ขยะอาหาร…แค่กินไม่หมด โลกร้อนได้ยังไง?

“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง สงสารบรรดาเด็กตาดำๆ” บทท่องจำในวัยเด็กของใครหลายๆ คน อาจมีเนื้อหาแตกต่างกันบ้างตามพื้นที่ แต่ที่เหมือนกัน คือ เนื้อหาที่ต้องการสื่อให้พวกเรารู้จักคุณค่าของอาหาร รู้จักนึกถึงผู้อื่น และการทานอาหารให้หมด ซึ่งในปัจจุบันการบริโภคอาหารและน้ำ ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะไม่ใช่แค่สงสารบรรดาเด็กน้อยผู้หิวโหย แต่หมายถึงโลกกำลังอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต!

ในบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยอาหารการกินที่ดีที่สุดอย่างประเทศไทย คำว่า “อดยาก” จึงดูไกลตัวสำหรับใครหลายๆ คน ทำให้การตระหนักรู้เรื่องอาหารเป็นวาระสุดท้ายที่คนไทยจะนึกถึง ความเนื่องแน่นและความหลากหลายของอาหาร ทำให้เมนูหลายจานถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งถ้ากล่าวว่าขยะเศษอาหารเป็นขยะที่จัดการยากและส่งผลต่อสภาวะความเป็นอยู่ของโลก อาจจะสร้างคำถามในใจได้ว่า “ขยะเศษอาหารที่ย่อยสลายง่าย สร้างปัญหาให้โลกได้อย่างไร?” Chula Zero Waste ขอแนะนำวีดีโอ “วิกฤติขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” ในโครงการ ‘กินได้ไม่ทิ้งกัน’ ของเทสโก้โลตัส ที่มีจุดประสงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะเศษอาหารที่ไม่ด้อยไปกว่าขยะชนิดอื่นๆ

หลายคนมักทราบกันดีว่าในพื้นที่ส่วนหนึ่งของโลกยังมีประชากรผู้หิวโหย แม้ทั้งโลกจะมีผู้เผชิญความอดอยากเพราะขาดแคลนเพียง 11% แต่เสียงท้องร้องเนื่องจากความว่างเปล่าในกระเพาะยังคงดังก้องในความรู้สึก 100% ซึ่งสวนทางกับการรายงานผลที่ว่ามีอาหาร 1 ใน 3 ของโลก ถูกทิ้งให้เป็นขยะรอวันเน่าเสียและกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศถึง 8 % และยังไม่รวมมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจหลายแสนหลายล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลที่จะสามารถช่วยผลักดันความเจริญก้าวหน้าได้ในหลายๆ เรื่อง รวมไปถึงการจัดการต่อปัญหาหิวโหยของผู้คนในโลกด้วย

การศึกษาสอนให้เรารู้ว่า พืชผักผลไม้และอาหารนานาชนิด มีเวลาในการเก็บรักษาสั้นและย่อยสลายอย่างรวดเร็ว การเน่าเสียของเศษอาหารจะกลับกลายเป็นปุ๋ยลงสู่ดิน หมุนเวียนให้พืชพรรณชนิดอื่นได้เติบโต เป็นแหล่งอาหารของเราต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เศษอาหารกว่าล้านตันถูกเจือปนไปกับขยะชนิดอื่นๆ เกิดการเน่าเสียทับถมและใช้เวลานานในการย่อยสลาย ซึ่งระหว่างกระบวนการจัดเก็บและแปรสภาพของขยะเศษอาหาร เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคอย่างดีและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์พาหะนำโรคแทบทุกชนิด ทั้งหนู นก และแมลงสาบ สามารถนำเชื้อโรคเดินทางไปสู่แหล่งน้ำดื่ม แหล่งการเกษตร และแหล่งที่อยู่อาศัยได้ด้วยน้ำที่เกิดจากกระบวนการแปรสภาพของเสียของขยะ อีกทั้งยังสร้างมลภาวะทางอากาศด้วยการส่งกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนสุขภาพทางอ้อม

วิธีการทำลายขยะเศษอาหารส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งเป็นการสร้างภาวะเรือนกระจกอย่างดี เพราะขยะเศษอาหารผลิตก๊าซมีเทนได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเสี่ยงต่อการปนเปื้อนไปยังแหล่งต่างๆ ในธรรมชาติ ถึงแม้บางประเทศจะเริ่มมีการจัดการขยะด้วยการใช้เครื่องบดอัดและฆ่าเชื้อ แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้

วิธีการลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ที่ดีที่สุด คือ การบริโภคอาหารให้หมดโดยเริ่มตั้งแต่จานของเรา เพราะอาหารที่ถูกทานจนหมดในทุกมื้อ สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดการสะสมของเชื้อโรคตั้งแต่ถังขยะไปจนถึงบ่อพักขยะ หรือแม้แต่สามารถช่วยให้ใครอีกคนหนึ่งได้อิ่มท้อง

เรื่องเล็กๆ ในจานข้าว ตอนนี้ดูเหมือนจะใหญ่เท่าขนาดของโลก แต่เราสามารถช่วยได้โดยการสั่งอาหารหรือตักอาหารแค่พออิ่ม ดื่มน้ำให้หมดแก้ว และรวมไปถึงการแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ถ้าทุกคนช่วยกันรับรองว่าเห็นผลชัดเจนที่คาดไม่ถึงอย่างแน่นอน

Together We Can มั่นใจเราทำได้!

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า, โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ขยะอาหาร…แค่กินไม่หมด โลกร้อนได้ยังไง?